บริษัท ไอยรา วินท์ โฮมโปรดักส์ จำกัด

บทความ

การออกแบบครัว

21-07-2559 00:36:39น.

เริ่มต้นที่ความเข้าใจและการวางแผน

 

การเลือกทำเลที่ตั้งของครัว

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับห้องครัวหากกำลังสร้างบ้าน นั่นคือจะบรรจุห้องครัวนี้ลงไปอยู่ในตำแหน่งใดของแปลนบ้าน คงไม่มีปัญหาอะไรถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอยู่บนแผ่นกระดาษ จะลบจะเพิ่มจะย้ายที่ย้ายตำแหน่งสักกี่ครั้งคงไม่มีใครว่า  แต่ถ้าเริ่มทำการก่อสร้างไปแล้ว หากจะมาปรับเปลี่ยนอีกก็คงจะเสียเงินและเสียเวลาโดยใช่เหตุ ดังนั้นการวางตำแหน่งของห้องครัวต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่างที่จะส่งผลต่อการใช้งานในระยะยาว ได้แก่

 

สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม

                อย่าลืมว่าห้องครัวเป็นห้องที่มีการใช้งานหนักและก่อให้เกิดทั้งเสียงดัง ทั้งกลิ่นและควันที่เกิดจากการใช้งาน ดังนั้นการเลือกตำแหน่งห้องครัวก่อนจะบรรจุลงไปในแบบแปลนจึงต้องคำนึงถึงเรื่องสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ บ้านเป็นอันดับแรกๆ

                ตำแหน่งของห้องครัวควรจะตั้งอยู่ในทิศที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวันอย่างทิศตะวันตกหรือทิศใต้ เพราะแสงแดดจะทำให้ห้องครัวไม่ชื้น ไม่มีกลิ่นอับ แถมแสงแดดยังช่วยฆ่าเชื้อโรคในห้องครัวอีกด้วย แต่ถ้ากลัวว่าจะร้อนก็สามารถปลูกต้นไม้หรือทำแผงกันแดดเพื่อป้องกันแสงที่เข้ามา นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงลม เพราะช่วยในเรื่องของการระบายอากาศ การเลือกตำแหน่งห้องครัวที่มีการปรุงอาหารหนักหรืออาหารที่มีกลิ่นแรงหรือมีควันจึงควรอยู่เหนือลม เพื่อไม่ให้ลมพัดเอากลิ่นและควันเข้าภายในบ้าน

                อีกเรื่องคือเรื่องสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ บ้าน หากพิจารณาแล้วว่าพื้นที่ของบ้านไม่เพียงพอหรือไม่เอื้อต่อการวางผังครัวให้รับแดดหรือลม ตำแหน่งของห้องครัวอาจจะต้องอยู่ติดกับส่วนอื่นๆ ภายในบ้าน ก็ควรแยกพื้นที่ให้ชัดเจน ด้วยการกั้นห้องหรือใช้บานเฟี้ยม บานเลื่อน เพื่อแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ส่วนมากปัญหานี้เกิดขึ้นกับบ้านที่อยู่ในเมืองซึ่งอยู่ติดๆ กันหรือคอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด จึงทำให้ต้องติดตั้งเครื่องดูดควันหรือพัดลมระบายอากาศเพื่อแก้ปัญหานี้

 

พฤติกรรมและความต้องการในการใช้งาน

                เมื่อรู้เกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับครัวแล้ว ต่อมาก็ควรที่จะรู้ถึงพฤติกรรมการใช้งาน รวมทั้งความต้องการในการใช้ครัว  ว่ามีการใช้งานบ่อยแค่ไหน  ใช้งานครัวหนักหรือไม่ ต้องการพื้นที่ครัวขนาดเท่าใด  สิ่งเหล่านี้จะต้องสังเกตพฤติกรรมในการใช้งานในอดีตว่าชอบทำอาหารหรือไม่ ชอบทำอาหารประเภทไหน มีกิจกรรมอะไรในห้องครัวบ้าง หรือสอบถามสมาชิกในครอบครัวเสียก่อน ยิ่งถามได้ละเอียดเท่าไหร่ก็จะออกแบพื้นที่ครัวได้ตรงกับความต้องการมากเท่านั้น

 

ลองใช้คำถามต่อไปนี้ถามตัวเองและคนในครอบครัวเพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงในการใช้งานห้องครัว

ครอบครัว

1.             มีสมาชิกกี่คน อายุเท่าไหร่บ้าง มีเด็กหรือไม่

2.             มีคนใช้งานห้องครัวกี่คน มีแม่บ้านหรือไม่

3.             ในบ้านมีคนชราหรือมีผู้พิการหรือไม่

4.             มีนิสัยในการซื้ออาหารอย่างไร ซื้ออาหารสดมาปรุงหรือซื้ออาหารสำเร็จรูป

กิจกรรมในห้องครัว

1.             ทำอาหารบ่อยแค่ไหน เพราะจะต้องคำนึงถึงพื้นที่ในการเตรียมอาหารก่อนปรุง

2.             มีกิจกรรมอื่นๆ นอกจากงานครัวหรือไม่ เช่น มีการรับประทานอาหารในครัวหรือไม่ ต้องการโต๊ะรับประทานอาหารหรือไม่

3.             ชอบทำอาหารแบบไหน

4.             ใช้ห้องครัวรับประทานอาหารมื้อไหนบ่อยที่สุด อาหารเช้าแบบทำง่ายๆ จะใช้พื้นที่น้อยกว่าอาหารเย็นที่รับประทานกันพร้อมหน้าพร้อมตา

5.             มีอุปกรณ์อื่นๆ นอกจากอุปกรณ์ครัวหรือไม่ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ

รูปแบบของห้องครัว

                อยากได้ห้องครัวสไตล์ไหน สีอะไร ใช้วัสดุตกแต่งแบบไหน ปัจจุบันวัสดุต่างๆมีให้เลือกใช้เป็นจำนวนมากทำให้สามารถเลือกสรรวัสดุที่ตรงกับความต้องการได้มากขึ้น ทั้งวัสดุปูพื้น วัสดุปูผนัง และวัสดุปิดผิว รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ครัวต่างๆ

งบประมาณ

1.             มีงบประมาณในการลงทุนทำห้องครัวเท่าไหร่ ให้บวกเผื่อไว้อีก 15 – 20 เปอร์เซ็นต์

2.             ถามตัวเองว่า ถ้าจะอยู่บ้านหลังนี้กับห้องครัวนี้ไปอีกนาน ก็ลงทุนกับครัวสักหน่อย แต่ถ้าไม่หรือคิดจะย้ายที่อยู่ก็อย่าเสี่ยงที่จะทุ่มเงินไปในห้องครัวมากนัก เพราะผู้ที่อยู่อาศัยต่ออาจจะไม่ชอบก็ได้

พื้นที่ครัว

1.             ครัวเดิมที่มีอยู่ไม่สะดวกสบายตรงไหนบ้าง อยากมีพื้นที่สำหรับทำอะไรเพิ่มจากครัวเดิม

2.             อยากขยายห้องครัวหรือไม่ พร้อมที่จะทุบห้องที่อยู่ติดกันเพื่อเพิ่มพื้นที่ครัวหรือไม่

3.             อยากขยายห้องครัวโดยการต่อเติมบ้านหรือไม่

เครื่องใช้และอุปกรณ์ในครัว

1.             อยากใช้เตาหุงต้มแบบไหน  เตาแก๊ส เตาไฟฟ้า เตาถ่าน เตาอบ

2.             มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรบ้างในห้องครัว เพราะนั่นหมายถึงจำนวนปลั๊กไฟและพื้นที่ในการจัดวาง

3.             มีภาชนะถ้วย ช้อน จาน ชาม หม้อ กระทะ มากเท่าใด  เพราะต้องจัดเตรียมตู้เก็บของและชั้นวางของให้เพียงพอ

4.             ต้องการอ่างล้างจานแบบไหน ขนาดเท่าไร แบบหลุมเดี่ยว หลุมคู่ หรือมีที่พักจานอยู่ขนาบทั้งสองข้าง

5.             ในครัวจะมีที่เก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดหรือไม่ ต้องการพื้นที่เท่าใด

งานระบบไฟฟ้าและประปา

1.              ภายในครัวมีปลั๊กไฟ สวิตซ์ไฟ ต้องเดินสายไฟเพิ่มหรือไม่

2.             ภายในครัวมีก๊อกน้ำเพียงพอหรือไม่ ต้องเดินท่อประปาเพิ่มหรือไม่

แสงสว่างและการระบายอากาศ

1.             ในห้องครัวมีแสงสว่างที่เพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่ ต้องการแสงประเภทใด แสงธรรมชาติ แสงจากหลอดไฟฟ้าแบบใด ต้องการแสงเพื่อสร้างบรรยากาศหรือไม่

2.             ในห้องครัวมีการระบายอากาศเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่ ต้องเพิ่มหน้าต่าง หรือติดพัดลมดูดอากาศหรือเครื่องดูดควันหรือไม่

การใช้งานอื่นๆ

1.              มีการใช้งานอื่น เช่น การซักผ้า อบผ้าภายในห้องครัวหรือไม่

2.             ต้องการพื้นที่สำหรับรีดผ้าในห้องครัวหรือไม่ ต้องเตรียมพื้นที่เก็บเตารีดและอุปกรณ์หรือไม่

 

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามพื้นฐานสำหรับสอบถามพฤติกรมและความต้องการคร่าวๆ ของผู้ใช้งานภายใน

บ้าน ซึ่งถ้าหากมีความต้องการเพิ่มเติมควรจะบอกแก่ผู้ออกแบบหรือสถาปนิกไว้ก่อน เพื่อที่จะได้ออกแบบจัดเตรียมพื้นที่ในการตกแต่งและจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเดินระบบไฟฟ้าและประปาได้เพียงพอกับการใช้งานตั้งแต่แรก จะได้ไม่เสียเวลามาแก้ไขในภายหลัง

 

การเข้าถึงห้องครัว

                ในการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งของห้องครัว ปัจจัยอีกอย่างคือ การเข้าถึงห้องครัวที่สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเดินผ่านห้องต่างๆ เวลาขนของจากรถแล้วควรเข้าสู่ห้องครัวได้โดยตรงก็ยิ่งดี หรือเวลามีคนมาส่งแก๊ส หรือส่งของก็ไม่ต้องเดินเข้ามาในบ้าน บางครั้งห้องครัวจะอยู่ติดกับโรงจอดรถ เพื่อสะดวกในการขนของ สำหรับบ้านที่มีแม่บ้าน อาจมีทางเข้าครัวของแม่บ้านโดยเฉพาะ อาจจะอยู่ติดกับห้องของแม่บ้าน เพื่อความสะดวกในการทำงานบ้าน

                โดยปกติประตูของครัวมักจะมี 2 ด้าน คือ  ด้านที่เข้ามาจากภายในบ้านและด้านที่ออกไปสู่ภายนอกบ้านที่เป็นส่วนซักล้าง การกำหนดตำแหน่งของประตูเข้า-ออกที่ดีนั้น จะต้องไม่ให้เกิดเส้นทางสัญจรที่ไปรบกวน การใช้งานภายในครัว  ส่วนครัวที่แยกออกไปจากตัวบ้านอาจจะต้องทำทางเดินมีหลังคาคลุมไปจนถึงครัว ทางเดินที่อยู่ภายนอกควรปูด้วยวัสดุที่ไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำ เช่น หินแกรนิต เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ

                นอกจากทางเข้าออกแล้ว ลักษณะและวัสดุที่ใช้ทำประตูก็เป็นเรื่องที่ต้อคำนึงถึงเช่นกัน ว่าจะเป็นอย่างไร เช่น เป็นบานทึบ หรือบานโปร่ง ใช้ไม้หรือกระจกเป็นบานผลัก หรือบานเลื่อน จำเป็นต้องมีโช๊คอัพเพื่อปิดประตูอัตโนมัติหรือไม่  ถ้าเป็นบานผลัก อาจจะต้องมีช่องมองเห็นอีกฝั่งเพื่อไม่ให้เปิดไปชน

 

การแบ่งพื้นที่ในห้องครัว

                ถึงแม้ว่าการใช้งานพื้นที่ในห้องครัวนั้นอาจจะมีการเหลื่อมล้ำกันอยู่ ไม่ได้แบ่งพื้นที่กันอย่างชัดเจนก็จริง แต่การกำหนดพื้นที่ใช้สอยสำหรับกิจกรรมต่างๆ ในครัวนั้นก็เปรียบเสมือนการแบ่งหน้าที่การใช้งานไปในตัว ดังนั้นจึงควรรู้ว่าจะแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในครัวอย่างไร และแบ่งเป็นพื้นที่เท่าใดบ้าง

 

พื้นที่เก็บของ

                ข้าวของในห้องครัวนั้น ประกอบด้วย ของสด ของแห้ง แลเครื่องมือทำอาหารและอุปกรณ์ในการรับประทานอาหาร การจัดเก็บสิ่งเหล่านี้จึงแตกต่างกันไปตามชนิดและขนาดของสิ่งของ

                ของสดหรืออาหารที่รอปรุงต้องเก็บไว้ในตู้เย็น  บางบ้านมีพฤติกรรมในการซื้อของสดคราวละมากๆ มาเก็บแช่ไว้ในตู้เย็น  อาจจะมีตู้แช่แข็งสำหรับเก็บอาหารสดโดยเฉพาะ หรือมีตู้เย็น 2 หลัง สำหรับแช่ของสดที่ไม่ต้องเอาออกมาใช้บ่อยๆ 1 หลัง และอีกหลังสำหรับของที่ต้องใช้บ่อยๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเปิดตู้เย็นบ่อยๆ ให้เปลืองค่าไฟ

                ของแห้งจำพวก หอม กระเทียม ที่ไม่ต้องแช่ตู้เย็น ก็ควรเก็บใส่ภาชนะที่มิดชิดหรือใส่ตู้เก็บของที่ป้องกันมด หนู แมลง ได้ ตู้ที่เก็บของแห้งควรมีฝาปิดมิดชิด แต่สามารถระบายอากาศและความชื้นได้ ส่วนเครื่องปรุง อาหารกระป๋อง ยา กาแฟ ที่จำเป็นต้องหยิบใช้บ่อยๆ ควรอยู่ใกล้มือหรืออยู่บนชั้นวางที่ไม่ลึกมากนัก

                เครื่องมือทำอาหารจำพวกหม้อ กระทะ ควรเตรียมพื้นที่ในตู้เก็บของให้เพียงพอ ความสูงของชั้นเก็บของควรพอดีกับความสูงของหม้อเวลาเก็บซ้อนกันหลายๆ ใบ เช่นเดียวกับจาน ชาม จะทำให้ดูเรียบร้อย ไม่เกะกะเมื่อยามไม่ใช้งานอีกด้วย

 

พื้นที่เตรียมอาหาร / พื้นที่ล้างทำความสะอาด

                พื้นที่ส่วนนี้มีไว้เพื่อวางของสำหรับเตรียมทำอาหาร จึงไม่ควรไกลจากตู้เย็น เพื่อที่จะหยิบวัตถุดิบได้สะดวก ควรอยู่ระหว่างเตาและอ่างล้างจาน เพราะต้องล้างและพื้นวัตถุดิบก่อนนำไปปรุง ซึ่งบริเวณที่ใช้สับหรือหั่นจะต้องมีความแข็งแรงในการรองรับแรงสั่นสะเทือนที่จะเกิดขึ้น พื้นที่ด้านบนซึ่งสูงขึ้นไปอาจทำเป็นช่องเก็บของที่ไม่ลึกมาก สำหรับเก็บเครื่องปรุง เครื่องเทศ อาหารกระป๋อง ยาหรือกาแฟที่ต้องหยิบใช้บ่อยๆ ส่วนลิ้นชักด้านล่างเคาน์เตอร์ ใช้สำหรับเก็บช้อน ส้อม มีด ตะหลิว หรืออุปกรณ์สำหรับทำอาหารอื่นๆ   บางครั้งพื้นที่ส่วนนี้ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปิ้งขนมปัง จึงควรหาที่เก็บที่สามารถหยิบมาใช้ได้สะดวก สิ่งที่จำเป็นสำหรับบริเวณนี้ก็คือปลั๊กไฟ ถ้าจะให้ดีควรกำหนดที่วางอย่างถาวร สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ เพื่อกำหนดตำแหน่งของปลั๊กไฟที่แน่นอน  และหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว พื้นที่ส่วนนี้จะกลายเป็นที่พักจานที่ใช้แล้ว  ก่อนนำมาล้างและจัดเก็บเข้าตู้เก็บจานต่อไป  ฉะนั้นพื้นผิวของบริเวณเคาน์เตอร์ที่เป็นทั้งพื้นที่เตรียมอาหารและพื้นที่ล้างทำความสะอาดจึงต้องมีความแข็งแรงและเช็ดล้างทำความสะอาดง่าย อาจจะใช้เป็นวัสดุชนิดเดียวกันตลอดทั้งเคาน์เตอร์หรือสลับชนิดวัสดุก็ได้  แต่ต้องดูโทนสีให้เข้ากับห้องโดยรวม ส่วนมากนิยมใช้หินแกรนิต กระเบื้อง วัสดุสังเคราะห์อย่างลามิเนตหรือหินสังเคราะห์ซึ่งมีสีสันให้เลือกหลากหลาย

 

พื้นที่ปรุงอาหาร

                เป็นบริเวณพื้นที่สำหรับอุปกรณ์ประกอบ ส่วนใหญ่มักอยู่ติดกับพื้นที่เตรียมอาหาร และล้างทำความสะอาด เพื่อความสะดวก ซึ่งปัจจุบันเครื่องครัวและอุปกรณ์ในการทำอาหารก็ไม่ได้แตกต่างออกไปจากอดีต ซึ่งประกอบไปด้วย เตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้า เตาอบ เครื่องดูดควัน พร้อมทั้งพื้นที่สำหรับวางเครื่องปรุง ซอสต่างๆ อาจะทำเป็นชั้นวางติดผนังที่หยิบง่ายพร้อมใช้งาน

                ห้องครัวที่มีขนาดใหญ่ มีพื้นที่มาก มักจะแยกเตาไฟกับเตาอบและไมโครเวฟออกจากกัน เพราะการทำอาหารแต่ละชนิดใช้ไฟในการทำอาหารต่างกันไป เตาไฟเป็นจุดหนึ่งในหลักการของรูปสามเหลี่ยม มีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 75 -100 เซนติเมตร ซึ่งประกอบด้วยหัวเตาขนาดต่างกันตามแต่ความต้องการ แต่ถ้าเป็นครัวขนาดเล็ก มีพื้นที่จำกัด ควรเลือกเตาที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายภายในเครื่องเดียว เช่น เตาที่ใช้ได้ทั้งแก๊สและเตาไฟฟ้า เพราะหากเตาประเภทใดเสีย จะได้ใช้อีกอันไปก่อนและยังช่วยประหยัดพื้นที่ในครัวอีกด้วย

                สำหรับเตาอบและไมโครเวฟ รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ควรจะแยกออกมาวางต่างหากหรืออาจทำตู้แยกออกไปให้มีความสูงในระยะพ้นมือเด็กที่อาจจะกดเล่นเพราะความซน พื้นที่ด้านข้างของเตาที่ใช้ปรุงอาหารควรเว้นไว้ด้านละประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร เพื่อใช้วางกระทะ หม้อ หรืออาหารที่เพิ่งปรุงเสร็จ

                นอกจากนี้ในพื้นที่ปรุงอาหารควรจะต้องมีเครื่องดูดควันสำหรับระบายกลิ่นและน้ำมันที่เกิดจากการประกอบอาหาร ซึ่งมี 2 แบบ คือ แบบหมุนเวียนอากาศ เมื่ออากาศเข้าไปผ่านตัวกรองที่อยู่ในเครื่องก็จะถูกปล่อยกลับเข้ามาในห้อง และอีกแบบคือ แบบระบายอากาศออกสู่ภายนอก กลิ่น ควัน และไอน้ำมัน จะถูกดูดออกไปภายนอกบ้าน ซึ่งแบบหลังนี้จะมีประสิทธิภาพดีกว่า

 

พื้นที่รับประทานอาหาร

                การรับประทานอาหาร โดยส่วนใหญ่มี 2 แบบ คือ รับประทานในห้องครัวโดยออกแบบพื้นที่ไว้ สำหรับรับประทานอาหารทั้งแบบตายตัวและแบบที่ปรับเปลี่ยนพับเก็บได้  ซึ่งแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ใช้งานไม่กี่คน กับอีกแบบคือ ห้องรับประทานอาหารที่อาจจะแยกออกไปหรืออยู่ติดกับห้องครัวก็ได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบ เหมาะสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกมากหรือเพื่อรองรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน

                โดยปกติแล้วการจัดพื้นที่สำหรับรับประทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็นแบบใดมักจะหลีกเลี่ยงไม่ให้อยู่ในพื้นที่รูปสามเหลี่ยม เพื่อป้องกันการขัดขวางทางสัญจรขณะทำงานครัว และไม่ควรอยู่ห่างจากพื้นที่ปรุงอาหารและพื้นที่ล้างทำความสะอาดมากเกินไป

                ทั้งขนาดและรูปแบบเฟอร์นิเจอร์สำหรับนั่งรับประทานอาหาร ควรจะเลือกให้มีความเหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ โต๊ะสี่เหลี่ยมแบบอิสระที่เคลื่อนย้ายได้ดูจะเหมาะสมที่สุดเนื่องจากไม่กินเนื้อที่มาก แต่บางบ้านเช่นบ้านคนจีน อาจจะเลือกใช้โต๊ะกลมตามความคุ้นเคย สิ่งสำคัญคือนอกจากต้องมีพื้นที่สำหรับโต๊ะและเก้าอี้แล้ว ยังต้องเผื่อพื้นที่สำหรับเคลื่อนย้ายเก้าอี้เข้า-ออก อีกประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร อีกด้วย

 

พื้นที่ใช้สอยพิเศษอื่นๆ 

                นอกจากในครัวจะมีพื้นที่เตรียมอาหาร พื้นที่ปรุงอาหาร และพื้นที่รับประทานอาหารแล้ว ถ้ามีพื้นที่มากพอก็อาจจะออกแบให้มีพื้นที่สำหรับกิจกรรมอื่นๆ เช่น การซักรีดเพื่อเป็นการประหยัดในการสร้างห้องสำหรับซักรีดไปอีกห้อง อุปกรณ์สำหรับซักผ้า ได้แก่ เครื่องซักผ้า ถ้าบางบ้านมีเครื่องอบผ้าก็จะช่วยประหยัดเวลาในการนำไปตากได้ ซึ่งภายในห้องครัวต้องแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับเครื่องซักผ้าและอบผ้านี้ไว้ด้วย ส่วนใหญ่มักจะฝังอยู่ในเคาน์เตอร์ให้ดูมีความต่อเนื่องสวยงาม ส่วนโต๊ะรีดผ้าอาจใช้แบบที่พับเก็บเข้าตู้  เมื่อจะใช้จึงกางออกมาแทนโต๊ะที่เคลื่อนย้ายได้ ประหยัดเวลาในการขนย้ายด้านล่างของตู้เก็บโต๊ะรีดผ้าทำเป็นลิ้นชัก เพื่อใช้เก็บเตารีด น้ำยารีดผ้า ไม้แขวนเสื้อ และอุปกรณ์อื่นๆ

                นอกจากนั้นบางบ้านยังใช้พื้นที่บางส่วนของครัวเป็นที่ปรึกษาหารือก่อนจะออกไปจ่ายตลาด นั่งทำบัญชีรายรับรายจ่าย เก็บตำรับตำราทำอาหารพร้อมแม้กระทั่งหลังจากรับประทานอาหารเสร็จก็ใช้เป็นที่พูดคุยปรับทุกข์กันในครอบครัว แต่ถ้าบางบ้านมีแขกที่สนิทสนมมาเยี่ยมเยียนบ่อยๆ ก็อาจใช้พื้นที่ส่วนนี้เป็นที่สำหรับสังสรรค์กัน แทนห้องรับแขกก็ได้ เพียงแต่จัดพื้นที่ในครัวให้เป็นสัดส่วน จัดเป็นมุมด้วยต้นไม้ หรือหาชุดเก้าอี้สวยๆ มาตั้ง